จุดเด่นของเขตอย่าง “การเชื่อมโยงท่าทั้ง 4″ ซึ่งประกอบด้วยท่าอากาศยานนานาชาติ สถานีรถไฟ ศูนย์ขนส่งทางถนน และท่าเรือบก ได้สร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการขนส่งสินค้าและการเดินทาง โดยข้อมูลจากทางฝ่ายงานพรรคและมวลชนประจำเขตฯ ระบุว่า ปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ของสนามบินเจิ้งโจวสามารถติดอันดับ 40 แรกของโลก มีเส้นทางขนส่งสินค้าเชื่อมโยงกับ 28 ประเทศและ 62 เมืองทั่วโลก ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจสำคัญในทุกภูมิภาค ทั้งนี้ ความคืบหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือการเปิดใช้งานโซนปฏิบัติการฝั่งตะวันตกของศูนย์ท่าเรือบกนานาชาติ ซึ่งเป็นศูนย์รวมรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรประดับชาติเพียงแห่งเดียวในภาคกลางและตะวันออกของจีน และคาดการณ์ว่าภายในปี 2578 ศูนย์นี้จะมีศักยภาพในการรองรับการขนส่งด้วยรถไฟถึง 10,000 ขบวนและสินค้า 10 ล้านตันต่อปี
การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในเขตมุ่งเน้นการสร้างคลัสเตอร์การผลิตขั้นสูงที่มีมูลค่าสูง ในด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ บริษัทชั้นนำอย่างฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) เอ็กซ์ฟิวชัน (xFusion) และลุงซัน (Loongson) ได้ร่วมกันสร้างคลัสเตอร์ที่มีมูลค่าระดับล้านล้านหยวน ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2555 โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ที่เจิ้งโจวได้ผลิตสมาร์ตโฟนไปแล้วกว่า 1.2 พันล้านเครื่อง จนกลายเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังมีสายการผลิตเซิร์ฟเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ โดยมีมูลค่าการผลิตรวมต่อปีสูงถึง 4.95 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ บริษัทบีวายดี (BYD) สกายเวิร์ท (Skyworth) และจี๋ลี่ (Geely) ได้พัฒนาคลัสเตอร์มูลค่าแสนล้านหยวน โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ยอดการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ของบีวายดีพุ่งสูงแตะ 545,000 คัน เพิ่มขึ้นถึง 169.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชีวการแพทย์มูลค่าแสนล้านหยวน ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นครวิทยาศาสตร์การแพทย์จงหยวน (Zhongyuan Medical Science City) ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์สมัยใหม่ ตลอดจน โครงการศูนย์ประมวลผลขนาด 10000P ที่วางแผนและก่อสร้างโดยศูนย์การคำนวณอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในจีนตอนกลาง ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะเดียวกัน
เขตท่าอากาศยานเจิ้งโจวยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีดาวเทียมอวกาศ การจัดแสดงสินค้า และวัสดุนวัตกรรม พร้อมทั้งวางรากฐานสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานใหม่และปัญญาประดิษฐ์ด้วย
การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดการลงทุน โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เขตท่าอากาศยานเจิ้งโจวได้ดำเนินการปฏิรูปสภาพแวดล้อมทางธุรกิจผ่านมาตรการ “รวม 10 ประการ” มุ่งมอบสภาพแวดล้อมทางธุรกิจชั้นเยี่ยมที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด มีรากฐานทางกฎหมายที่มั่นคง และได้มาตรฐานสากล พร้อมบริการสนับสนุนแบบครบวงจรที่รวดเร็วและสะดวกสบายให้กับนักธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก สำหรับทิศทางการพัฒนาในอนาคต เขตท่าอากาศยานเจิ้งโจวมีเป้าหมายที่จะสร้างศูนย์การผลิตขั้นสูง ศูนย์กลางโลจิสติกส์เพื่อธุรกิจ ศูนย์นวัตกรรมและการประกอบการ ศูนย์แฟชั่นเชิงสร้างสรรค์ และศูนย์พัฒนาทรัพยากรบุคคล พร้อมเปิดรับนักธุรกิจจากทั่วโลกให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นการพัฒนาใน “ทศวรรษทอง” รอบที่สองของท่าอากาศยานแห่งนี้ และร่วมรับผลประโยชน์จากการเติบโตไปด้วยกัน ก้าวสู่อนาคตแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม